สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 458  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน


 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558 เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550 ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 - 540, 547 - 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2546 ตามสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 320,000 บาทได้รับเงินมัดจำไว้ 170,000 บาท ส่วนที่เหลือ 150,000 บาท จะชำระในวันที่ 29มกราคม 2541 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีการแบ่งชำระราคาซื้อขายเป็น 2 งวดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 มิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ผู้คัดค้านจึงมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

 

  •